Last updated: 1 ต.ค. 2561 | 1341 จำนวนผู้เข้าชม |
OIC/SMIIC จัดประชุมกรรมาธิการวิชาการเพื่อพิจารณามาตรฐานฮาลาลห้าด้าน ที่อิสตันบูล ตุรกี ไทยเป็นหนึ่งในคณะทำงานจาก 37 ประเทศ
สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเชิญอย่างเป็นทางการในฐานะประเทศสมาชิกของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาสำหรับประเทศอิสลาม (Standard and Metrology Institute for Islamic Countries – SMIIC) องค์ในสังกัดองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation – OIC) (ชื่อที่เรียกสำหรับองค์การนี้คือ OIC/SMIIC) ให้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิชาการด้านมาตรฐานเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดใน 5 เรื่อง ร่วมกับคณะทำงานของประเทศสมาชิกที่มาจาก ซาอุดิอาราเบีย อิยิปต์ อิหร่าน ลิเบีย มาเลเซีย บอสเนีย ปากีสถาน ตุรกี ซูดาน คาเมรูน ตูนีเซียและจากประเทศไทยรวมทั้งสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศด้านนิติศาสตร์อิลาม (International Islamic Fiqh Academy) ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ในขณะเดียวกัน OIC/SMIIC ขอให้ประเทศสมาชิกและประเทศผู้สังเกตการณ์ พิจารณาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานใน 5 เรื่องใหญ่ๆคือ แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานและข้อกำหนดด้านอาหาร ด้านเครื่องสำอางค์ ด้านการท่องเที่ยวและการบริการที่เกี่ยวเนื่อง ด้าน Halal Supply Chain และระบบการบริหารจัดการด้านฮาลาล ทั้งนี้
เพื่อให้ประเทศ OIC ทั้ง 57ประเทศยอมรับและประกาศใช้เป็นมาตรฐานของประเทศของตนได้ โดยความเห็นชอบอย่างเป็นทางการขององค์กรที่รับผิดชอบในการกำหนดมาตรฐาน และข้อกำหนดอื่นตามระเบียบที่เป็นทางการของประเทศสมาชิก
การประชุมดังกล่าวได้จัดให้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ 24-28 กันยายน 2561โดยมีตัวแทนจากประเทศไทย 4 คนนำโดย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยเป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยนายปรัชญา ฉิมวิเศษ รองผู้อำนวยการฯโดยการสนับสนุนงบประมาณจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำหรับผู้แทนจากศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้แก่ ดร.อัซอารี สุขสุวรรณ และ ดร. เกษีณี เกตุเลขา เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้
ปรัชญา ฉิมวิเศษ รายงาน